วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

กินหมูไม่สุก ระวังโรค streptococcus suis อันตรายถึงชีวิต


สำหรับ โรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นโรคที่เกิดในสุกร เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococus suis ในสกุล Streptococcus ที่ปกติจะมีอยู่ในสุกรเกือบทุกตัว ซึ่งฝังตัวอยู่ในต่อมทอนซิลของสุกร แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดโรค เว้นแต่เมื่อใดที่สุกรมีร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือป่วยด้วยโรคที่ไปกดภูมิคุ้มกัน แบคทีเรียตัวนี้ก็จะเพิ่มจำนวน และติดเชื้อในกระแสเลือด (bacteremia) และทำให้หมูป่วยและตายได้ในที่สุดเชื้อ Streptococus suis ติดต่อสู่คนได้อย่างไร

เชื้อ Streptococus suis สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทาง คือ
1. ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา จากการสัมผัสสุกรที่เป็นโรค กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล
2.จากการบริโภคเนื้อสุกร เครื่องใน หรือเลือดหมูที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก เช่น ลาบ ลู่ ที่นิยมทำจากเนื้อหมูดิบ ๆ หรือหมูกระทะที่ปิ้งย่างไม่สุก อาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่รับเชื้อ Streptococus suis เข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายใน 3 วัน จะมีไข้ คลื่นเหียน ปวดศีรษะ จนเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าไปสู่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบตามมา และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมอง อยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม และทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนหูหนวกร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซตามมาได้ รวมทั้งเกิดอาการ Toxic Shock Syndrome ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้
นอกจากนี้ ความน่ากลัวของ Streptococus suis ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้หูหนวก และสูญเสียการทรงตัวเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า จะทำให้เชื้อแบคทีเรีย Streptococus suis เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรืออาจเกิดติดเชื้อในกระแสโลหิตจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
การรักษา แพทย์จะจ่ายยาต้านจุลชีพให้ เช่น ฉีดยาเพนนิซิลลินขนาดสูง 18-24 ล้านยูนิตทางหลอดเลือดดำ เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ให้เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนที่รอดชีวิตมา ยังอาจมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่ เช่น ความผิดปกติในการทรงตัว เนื่องจากเชื้อได้เข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมอง หรือหากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางคนยังอาจเป็นอัมพาตครึ่งซีกได้เช่นกัน การป้องกัน สำหรับในสุกรนั้น ควรเลี้ยงสุกรให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่แออัด โรงเรือนต้องระบายอากาศได้ดี ป้องกันสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันได้ เพื่อไม่ให้สุกรอ่อนแอ จนเชื้อStreptococus suis เพิ่มจำนวนเข้ามาได้ เนื่องจากสุกรที่รับเชื้อ Streptococus suis เข้ามาแล้วจะไม่แสดงอาการป่วย เราจึงไม่สามารถทราบได้เลยว่า สุกรตัวไหนที่ป่วย

ขณะที่วิธีป้องกันเชื้อ Streptococus suis ในคนที่ต้องทำงานในฟาร์ม หรือสัมผัสสุกร ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล สวมรองเท้าบู้ต หรือ สวมถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้ แต่สำหรับเรา ๆ การหลีกเลี่ยงบริโภคเนื้อสุกร เครื่องใน รวมทั้งเลือดหมูที่ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นหนทางป้องกันที่ดีที่สุด เพราะเชื้อ Streptococus suis จะถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ดังนั้นหากต้องการหลีกเลี่ยงเชื้อ Streptococus suis ก็อย่าลืมปรุงอาหารให้สุกก่อนทุกครั้งค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น