เนยแข็ง หรือ Cheese เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกและมีการพัฒนารูป รส กลิ่นของเนยแข็งออกไปอย่างมากมายตามความนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคของคนในแต่ละพื้นที่ แต่วันนี้ผมจะมาเล่าถึงกำเนิดของเนยแข็ง ว่ามีที่ไปที่มากันอย่างไรถึงได้มาเป็นเนยแข็งสุดยอดอาหารยอดนิยมของโลกในวันนี้ กำเนิดของเนยแข็งนั้น ไม่มีเอกสารใดที่อ้างอิงไว้อย่างเป็นทางการ มีเพียงตำนานเล่าขานกันว่าเนยแข็งนั้นได้ถือกำเนิดเมื่อ 4,000 ปีก่อนคริสต์กาลในทะเลทรายแถบตะวันออกกลาง โดยชายชาวอาหรับคนหนึ่ง ซึ่งตำนานก็ไม่ได้บอกว่ามีชื่อว่าอะไร ได้เดินทางข้ามทะเลทรายโดยใช้อูฐเป็นพาหนะและเขาได้บรรจุนมใส่ในกระเป๋าใบเล็กๆ ที่ทำจากกระเพาะแกะ เพื่อใช้เป็นเสบียงระหว่างเดินทาง แล้วก็เดินทางรอนแรมไปในทะเลทราย จนเกิดกระหายน้ำขึ้นมา จึงยกกระเป๋าขึ้นหมายจะดื่มนมให้สมใจ แต่กลับพบว่า นมแยกออกเป็น 2 ชั้น ชั้นหนึ่งมีลักษณะเป็นก้อนข้นขาว ส่วนอีกชั้นหนึ่งเป็นน้ำสีขุ่นคล้ายหางนม เหตุที่ทำเป็นเช่นนี้ ก็เพราะในเยื่อบุของกระเพาะแกะ มีเอนไซม์ที่ชื่อว่า 'เรนนิน' ซึ่งเมื่อรวมกับความร้อนในทะเลทรายที่ทำให้นมอุ่นขึ้น และแรงสั่นสะเทือนอันเกิดจากการเคลื่อนไหวของอูฐ ทำให้นมเกิดแยกออกเป็น 2 ชั้น และเทคนิคอันนี้เองที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตเนยแข็งจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ชายอาหรับคนนี้ แกก็ไม่ได้สนใจเทคนิคที่พบโดยบังเอิญนี้เท่าใดนัก แกรู้แต่เพียงว่า หางนมนั้นยังกินได้ และส่วนก้อนๆ แข็งๆ นั่น ก็อร่อยดีเท่านั้นเอง เมื่อชายอาหรับคนนี้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง เทคนิคนี้ก็ได้นำมาใช้เพื่อให้การเก็บนมทำได้ง่ายขึ้น และนานขึ้นในระหว่างการเดินทางเท่านั้นเอง จนกระทั่งถึงยุดของมองโกลเรืองอำนาจเทคนิคการเก็บรักษานม โดยทำเป็นเนยแข็งก็ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อใช้เป็นอาหารที่อุดมด้วยคุณค่าให้กับนักรบมองโกลเมื่อถึงยุคสมัยที่โรมันเรืองอำนาจ ก็เริ่มมีการผลิตเนยแข็งตามครัวเรือน อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ขั้นตอนการผลิตต่างๆ ถูกพัฒนา จนได้เนยแข็งหลากหลายรส เนยแข็งกลายเป็นอาหารของขุนนางชั้นสูง และเผยแพร่ไปทั่วยุโรปตามเหล่าทหารโรมัน ที่ยกพลไปบุกประเทศต่างๆ จนถึงยุคกลาง บาทหลวงกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาเนยแข็ง ให้มีหลากรสชาติมากปัจจุบันเรามีเนยแข็งถึงกว่า 2,000 ชนิดโดยมีส่วนผสมและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ในศตวรรษที่ 19 เนยแข็งก็กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความสำคัญมาก เพราะเนยแข็งกลายเป็นผลิตภัณฑ์นมที่มีคนนิยมบริโภคไปทั่วโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น